ข้าวเขียว
วรรณกรรมผู้ใหญ่
ข้าวเขียว
วรรณกรรมผู้ใหญ่
somkhitsin
อมตะนิยายของหนุ่มสาวยุคแสวงหาและสร้างสรรค์สังคมในอุดมคติ การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของคนยากไร้
  • 10 ตอน
  • 2,197
นิยายโดย
  • 2 คนติดตาม
  • Tag
  • #
บทนำ

คำนำผู้เขียน

ย้อน หลังจากวันนี้กลับไปเกือบ ๒๐ ปีก่อนประวัติศาสตร์บางหน้าในบ้านเมืองของเราได้บันทึกเหตุการณ์จราจลถึงขั้นนองเลือดมาแล้วครั้งหนึ่ง คือระหว่าง ๑๔-๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ เมื่อนิสิตนักศึกษาเรือนแสนเรือนล้านพากันลงสู่สนามราชดำเนินเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธีแต่กลับถูกปราบปรามด้วยกองกำลังติดอาวุธสงครามจนบาดเจ็บล้มตายราวใบไม้ร่วง

กาลครั้งนั้น ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์ ต่อมาเราเรียกขานวันนั้นว่า ๑๔ ตุลา วันมหาวิปโยค !

มาถึงปีนี้ ระหว่าง ๑๗-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ผู้เขียนต้องบันทึกไว้ว่า…

ที่สุดประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย กี่ร่างร่วงลงผล็อยลงดับดิ้น?

กี่ศพทบท้าวลงท่วมดิน กี่ร้อย-เลือดหลั่งริน-ราชดำเนิน?

เหมือนใบไม้ร่วงกราวลงเกรื่อนกล่น มันฆ่าคนมือเปล่าบ่ขัดเขิน

ลุอำนาจบาตรใหญ่...จนยับเยิน ช่างก่อกรรมจนเกินกว่าอภัย

สังหรณ์ลมหัวกุดวันก่อนนี้ หวั่นหวั่นว่าจะมีอาเพศใหญ่

วิปโยคจะมาย้ำหรืออย่างไร? วิปริตผิดไปจากธรรมดา

ที่สุดประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย เปลใหญ่น้อยลุกท่วมฟ้า

ก่อนนี้มีหนี้เลือดเดือนตุลาฯ ตกมาถึงพฤษภายิ่งเพิ่มพูน

ถึงแม้ว่า พ.ศ. นี้ผู้เขียนจะไม่ได้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่ถนนราชดำเนินเหมือนเมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว แม้เพียงติดตามสถานการณ์อยู่ห่างๆ ก่อนนั้นเล็กน้อยผู้เขียนถึงกับเอ่ยปากกับเพื่อนมิตรที่ใกล้ชิดกันเป็นทำนองพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า “ชะตากรรมบ้านเมืองของเราคงไม่พ้นจลาจลอีกแล้ว เกรงแต่ว่าความสูญเสียจะยิ่มกว่าคราวที่เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา วันมหาวิปโยค…”

แล้วสถานการณ์ก็เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ พวกเราทุกคนรู้สึกสลดใจต่อเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง โดยเฉพาะในแวดวงคนเขียนหนังสือ ชาวสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ที่ไปมาหาสู่กันอยู่ เหตุการณ์ในบ้านเมืองคราวนี้จะตราตรึงในความรู้สึกสำนึกของพวกเรา ราวรอยแผลเป็นที่ประทับอยู่ตรงใจกลางหมากหัวใจ

การตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง ข้าวเขียว ซ้ำอีกครั้งหนึ่งหลัังจากได้ตีพิมพ์มาแล้วเมื่อปีที่แล้ว

(๒๕๒๕) จุดมุ่งหมายประการสำคัญก็เพื่อรำลึกถึง ยุคสมัย ๑๔ ตุลาฯ ซึ่งกระแสประชาธิปไตยพุ่งสูงในจิตสำนึกของผู้คนทุกเพศวัย ทุกวงการสาขาอาชีพ

เบื้องหลังข้าวเขียว

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา วันมหาวิปโยค ผู้เขียนและเพื่อนมิตรวัยหนุ่มสาวจากมหาวิทยาลัยในเวลานั้นพากันหันหลังให้สังคมเมือง มุ่งหน้าสู่ชนบท เข้าหามวลชนคนชั้นชั้นล่างสุดของสังคม นอกจากเพื่อไป เผยแพร่ประชาธิปไตย อันเป็นการขยายผลที่ได้มาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตแล้ว ส่วนหนึ่งถึงกับตัดสินใจเดินออกจากรั้วสถาบันมหาวิทยาลัยลงสู่ มหาวิทยาลัยชีวิตในอุดมคติ ยึดมั่ยถือมั่นอุดมการณ์ที่จะรับใช้ชนชั้นผู้เสียเปรียบในสังคม

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งในบรรดาคนหนุ่มสาวส่วนนี้ !

ไม่ลังเลใจแม้น้อยในการตัดสินใจกลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตนด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำใ้หมู่บ้านเล็กๆ ในภาคอีสานกลายเป็นสังคมในอุดมคติ เป็นหมู่บ้านที่พยายามพึ่งตนเองให้ได้ และมีบทบาทในทางสร้างสรรค์ให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้องและดีงาม

ทว่าความมุ่งมั่นเหล่านี้กลับถูกมองในแง่ลบจากสายตาของพวกเผด็จการณ์ที่ยังฝังรากลึกอยู่ในวงการอำนาจรัฐในเวลานั้น ในที่สุด ซับแดง : หมู่บ้านเคียวเกียวดาว ก็ถูกปิดล้อมและปราบปรามด้วยกองกำลังติดอาวุธสงคราม ขนาดไม่น้อยกว่ากองพันในอีก ๒ ปีเศษต่อมาเมื่อในกรุงเทพมหานครเกิดเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ปี ๒๕๑๙

ในสถานการณ์เช่นนั้นมีเส้นทางให้เลือกอยู่เพียง ๒ เส้นทางเท่านั้น ทางแรกคือ ยอมจำนน ขณะที่เส้นทางหลังคือ ยืนหยัดต่อสู้ชนิดที่มาไม้ใหนไปไม้นั้น ซึ่งทั้งสองเส้นทางล้วนแต่มีความตาย รออยู่เบื้องหน้า !

เราตัดสินใจเลือกเส้นทางที่ ๒ ถึงแม้จะมีความตาย ขวางหน้าอยู่ แต่มันก็เป็นทางเลือกเดียวที่มีให้เลือกอย่างมีความหวัง เราหวังว่าหากการต่อสู้ยังไม่ถึงขนาดต้อง เสียสละชีวิต ยังจะมีโอกาศได้พบสังคมใหม่ ที่มีความเป็นธรรม หรือหากแม้นจำเป็นต้อง เสียสละชีวิตไปในท่ามกลางการต่อสู้ ก็ถือว่านั่นเป็นการเสียสละเพื่อมวลชนเรือนแสนเรือนล้านที่กำลังรอคอยสังคมใหม่ดังกล่าวนั้นอยู่

ผู้เขียนหลบออกจากวงล้อมและใช้เส้นทางเดิเท้านับร้อยกิโลเมตรหลบลี้หนีภัยออกนอกประเทศอย่างฉุกละหุก ไม่มีโอกาศได้สั่งลาพ่อแม่ญาติพี่น้อง แล้วก็กลับมา หนุนขอน-นอนป่า เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชนภายในประเทศเป็นเวลา ๔-๕ ปี ทั้งนี้เพื่อทำให้ การหนีตาย เป็นสิ่งที่มีอนาคต

ระหว่างาการหลบลี้หนี้ตายอยู่ในต่างประเทศ กระทั่งกลับมาเข้าร่วมกระบวนต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ สถานการณ์ สถานการณ์ล้มปราบเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ยังตราตรึงอยู่ในจิตสำนึกทั้งยามหลับและยามตื่น สิ่งนี้คอยย้ำเตือนให้คิดถึงบ้านที่เคยอยู่อู่ที่เคยนอน คิดถึงญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรร่วมหมู่บ้าน คิดถึงกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมในอุดมคติที่ยังค้างคาอยู่ ฯลฯ

วิธีที่จะผ่อนคลายความรู้สึกนั้นได้บ้าง คือจับปากกาขึ้นเขียนหนังสือ !

“ข้าวเขียว” : งานเขียนในเขตจรยุทธ

การทำงานเขียนนวนิยายเรื่อง ข้าวเขียว ในเวลานั้นไม่ใช่นั่งอยู่ต่อหน้า Micro Computer เหมือนอย่างในเวลานี้ แต่เป็นการทำงานในท่ามกลาง สถานการณ์สู้รบ มีเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วอยู่บนเป้หลัง พร้อมด้วยสัมภาระในการยังชีพ ในเขตป่าเขา ติดอาวุธเต็มอัตราศึก มีผู้ติดตามแบกขนกระดาษดินสอ ฯลฯ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตลอด ๒๔ ชั่วโมงในเขตจรยุทธ ซึ่งถือว่าเป็นแนวหน้าสุดในสถานการณ์ สงครามประชาชน

ผู้เขียนใช้เวลากว่า ๗ เดือนในการทำต้นฉบับ ๒๔๘ หน้า กระดาษพิมพ์ดีดขนาด A4 ลงเท้าขึ้นเขาลงห้วย บุกป่าฝ่าดงในท่ามกลางเสียงระเบิดแลัควันดินปืน ประทับรอยเท้าลงในแผ่นดินมาตุภูมิจากชายแดนของประเทศข้ามแม่น้ำโขง ผ่านภูพาน ภูแต้ เขาวง ภูพันสัน ภูซากลาก เข้าดงสวน ข้ามลำน้ำปาวเข้าดงมูล เขาสวนกวาง ข้ามถนนมิตรภาพขึ้นภูพานช่อฟ้า ข้ามลำน้ำพองขึ้นภูพานคำ แลเห็นหัวภูเม็งอยู่ไกลลิบ แต่ต้องไปให้ถึง เพราะที่นั้นเป็นทางผ่านไปสู่ภูผาแดงผาดำ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนเชิงภูผาแดงคือ “หมู่บ้านซับแดง” ที่ซึ่งเป็นบ่อเกิดของนวนิยายเรื่องนี้


ที่สุดประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย

เค้าโครงของ ข้าวเขียว คือเรื่องราวของกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์สังคมในอุดมคติของหนุ่มสาวยุคหลัง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ เป็นบทบันทึกเศษเสี้ยวหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้นมาถึง ๒ ทศวรรษแล้ว

ระยะเวลา ๑๙-๒๐ ปี ถ้าเปนชีวิตคนก็มีอายุย่างเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่เร่าร้อนต่อความอยากรู้อยากเห็น วัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียน เตรียมตัวที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ

ในยุคที่ผู้เขียนอยู่ในวัยนี้ บ้านเมืองของเราบอบช้ำกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา วันมหาวิปโยค ตกมาถึงยุคนี้คนหนุ่มสาวอาจจะนึกไม่ถึงว่าจะได้พบกับเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ อันนำความบอบช้ำ มาสู่บ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง และจะมีครั้งต่อๆไป หากเราอนุญาตให้กากเดนเผด็จการณ์ขึ้นนั่งบัลลังก์เมือง

ไม่นึกว่าจะหินโหดถึงปานนั้น นึกว่าการฆ่าฟันจะสิ้นสูญ

ไม่นึกว่าวันนี้จะอาดูร สิทธิ์เสรีที่เทิดทูนถูกทำลาย

กี่ร้อยกี่พันการเข่นฆ่า? กี่แสนความชั่วช้าจะสูญหาย?

กี่ล้านกี่โกฏิต้องล้มตาย? กี่ศพเซ่นถวายความชั้วช้า?

วันนี้..วิทยาศาสตร์ปราดเปรื่อง

วันที่โลกรุ่งเรื่องเป็นหนักหนา

วันที่การเมืองเหนือปรัชญา

วันที่อวิชชาเป็นชอบธรรม

วันที่คนดีจะหนีหน้า

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้คล้ายชี้นำ

ว่าเวรกรรม...ต้องเวนมอบตอบคืนเอย

สมคิด สิงสง

กระท่อมลายสือ-ซับแดง

ต้นฤดูฝนเลือด ๒๕๓๕



ผลงานของนักเขียนคนเดียวกัน

………………………………………………………………………………………………………....


ปีที่พิมพ์

๒๕๒๑ มโหรีแห่งชีวิตอิสระ วรรณกรรมร่วมสมัย, โรงพิมพ์รุ่งเกียติ ขอนแก่น

๒๕๒๒ ลาก่อนนาวังเหล็ก นวนิยาย, สำนักพิมพ์ปิยสาส์น กรุงเทพมหานคร

๒๕๒๔ ตำนานแห่งหมู่บ้าน รวมเรื่องสั้น, สำนักพิมพ์นกฮูก กรุงเทพมหานคร

๒๕๒๔ ข้าวเขียว นวนิยาย, สำนักพิมพ์อาทิตย์ กรุงเทพมหานคร

๒๔๓๖ สำนักพิมพ์ดอกหญ้า กรุงเทพมหานคร

๒๕๒๕ ไอ้พลอย นวนิยาย, สำนักพิมพ์กอไผ่ กรุงเทพมหานคร

๒๕๓๒ แด่แผ่นดินอีสาน ทรรศนคดี, กำลังทยอยตีพิมพ์ในนิตยาสาร “ข่าวพิเศษ” กรุงเทพมหานครจะ ตี พิมพ์รวมเล่มในเร็วๆนี้

๒๕๓๓ คนบนมอ รวมเรื่องสั้น, สำนักพิมดอกหญ้า กรุงเทพมหานคร

หมายเหตุ ยังไม่รวมผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี บทความที่ยังไม่ได้รวมเล่ม ทั้งในนามปากกานี้และนามปากกาอื่น

นิยายเรื่องอื่นของsomkhitsin